• PunaThai | ปูนาไทย

    เยี่ยมชมและติดตามเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์จากเว็บไซต์ของเราอย่างละเอียด เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปูนาไทย

  • Punathai วิธีการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปูนาไทย

    ติดตามเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์จากเพจของเราอย่างละเอียด เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปูนาไทย เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เพื่อบริโภคและจำหน่ายตลอดทั้งปี

  • การทำบ่อเลี้ยงปูนาหรือบ่อที่ใช้เลี้ยงปูนา

    สามารถเลือกใช้ได้ตามความสะดวก  ความเหมาะสมกับพื้นที่ที่เรามี เช่น บ่อปูนสี่เหลี่ยม บ่อปูนกลมหรือวงซีเมนต์ บ่อดิน บ่อสำเร็จรูป หรือแม้กระทั้งทำนาปูในที่ทำนา

  • พ่อแม่พันธุ์ปูนา

    ที่เห็นเลี้ยงกันส่วนใหญ่ก็จะมีพันธุ์กำแพง พันธุ์พระเทพ  การหาพ่อแม่พันธุ์ปูนาเอาแบบไม่ต้องใช้ทุนแต่ใช้แรงก็หาจากตามท้องทุ่งนาหรือรับซื้อจากชาวบ้านที่จับมาขายอีกทีก็ได้

  • การเลี้ยงปูนา Organic ให้ปลอดสารพิษ

    ทุกคนอาจสงสัยว่าจะมีวิธีการเลี้ยงปูนาให้ปลอดจากสารพิษได้อย่างไร นี่เป็นคำถามที่ทุกคนต้องการที่จะวันนี้จะมีคำตอบนะครับ!

ช่องทางการขายปูนา

by pkpunathai
ปูนา2

          ช่องทางการขายปูนานั้นช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมปูนาตามธรรมชาติจะหายากทำให้ปูนาที่เลี้ยงขายมีราคาสูงมาก  แต่ช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมปูนาในธรรมชาติจะมีจำนวนมากแต่จะมีข้อเสียตรงที่ว่าปูธรรมชาติจะไม่มัน  เนื้อไม่แน่นมีปลิง พยาธิ ปรสิต แต่ปูนาที่ทำการเพาะเลี้ยงใช้น้ำประปาจึงมีคลอรีนฆ่าเชื้ออยู่แล้ว  จึงสะอาดไม่มีปลิงใส พยาธิ ปรสิต แล้วปูนาก็จะมีความมันเนื้อแน่นเพราะขุนอาหาร  จึงทำให้ปูนาเลี้ยงเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน

 

          ปัจจุบันราคาปูนาสดแต่ละท้องที่ไม่เท่ากันมีตั้งแต่ราคากิโลกรัมละ 60-150 บาท  ขึ้นอยู่กับท้องที่นั้นหาง่ายหรือหายากเหตุผลของราคาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเป็นองค์ประกอบ  เช่น ต้นทุนระยะเวลาการเลี้ยงไม่แปลกที่ปูนาตามท้องถิ่นจะมีราคาที่ถูกกว่าเพราะต้นทุนต่ำกว่านั้นเอง  ส่วนปูพ่อแม่พันธุ์ก็จะมีตั้งแต่คู่ละ 50-100 บาท  ถ้าเลี้ยงเป็นปูนานิ่มก็จะอยู่ราวกิโลกรัมละ 1,000-1,500 บาท  ส่วนมันปูนาล้วนราคาประมาณกิโลกรัมละ 1,000-1,200 บาท  ราคาเหล่านี้มีขึ้นลงตามกลไกตลาดยังไงก็ลองเช็คกันดูอีกทีนะครับ



          ส่วนตลาดสำหรับผู้ที่ซื้อพันธุ์จากฟาร์มต่างๆ ก็จะมีการแนะนำตลาดอยู่แล้วบางฟาร์มก็รับซื้อคืน  สำหรับผู้ที่เริ่มเลี้ยงใหม่ๆ ก็ควรมองหาตลาดใกล้บ้าน  ร้านอาหาร  ร้านส้มตำ หรือแม้กระทั่งกลุ่มชาวบ้านที่ตกปลา  เพราะปูนาตัวเล็กนิยมไปใช้เป็นเหยื่อตกปลาช่อนรวมถึงการกระจายช่องทางไปในโลกออนไลน์  เช่น ตามหน้าเฟสบุ๊ค ตามเพจ หรือช่องในยูทูป เป็นต้น  อาจสามารถแปรรูปได้เองก็ยิ่งมีช่องทางการขายที่มากขึ้น  สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลโดยละเอียดก็คงต้องไปศึกษาดูงานตามฟาร์มที่เลี้ยงอย่างจริงจัง Credit by คัมภีร์ชีวิต StudiO 
          ขอเป็นกำลังใจให้กับท่านที่สนใจการเลี้ยงและเพาะพันธฺุปูนา เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เพื่ออุปโภคและจำหน่ายทุกท่านนะครับ  >>> พบกันในบทความต่อไปนะครับ...
Share:

การอนุบาลลูกปูนา

by pkpunathai
ลูกปูนา

          การอนุบาลลูกปูนา  หลังจากที่ลูกปูนาออกจากหน้าท้องของแม่ปู 7 วันแรกจะให้เป็นไข่แดงต้มสุก  แนะนำว่าต้องเป็นไข่เป็ดเพราะเป็นสารเร่งโตจะน้อยกว่าไข่ไก่ลูกปูนารับไม่ไหว  หลังจากนั้นจะให้เป็นไรแดง ไข่แดงต้มสุกจะไข่ไก่หรือเป็ดก็ได้ ไข่ตุ๋นหรือเต้าหู้ ผักผำ เป็นต้น  จะทำให้ลูกปูนาเจริญเติบโตได้ดี กินไปประมาณ 1 เดือนครึ่ง  โดยให้วันละ 1 มื้อในช่วงเย็น  บางฟาร์มก็อาจให้ 2 มื้อ เช้า-เย็นก็ได้ให้อาหารแต่พอเหมาะป้องกันน้ำเน่าเสียเร็วได้ การอนุบาลลูกปูนาไม่ง่ายหากไม่ได้สังเกตอย่างจริงจัง  ลูกปูนาก็เหมือนเด็กทะเลาะกัน ตีกัน ตัวใหญ่กว่าจะแย่งอาหารตัวเล็กกว่า  ก่อนจะโตอาจเหลือจำนวนน้อยมากปูนาเด็กโตเร็วทำให้ลอกคราบบ่อยพอลอกคราบก็จะอ่อนแอตกเป็นเหยื่อตัวที่แข็งแรงกว่านั่นเอง

  ไข่เป็ด ผักผำ ข้าวสุก อาหารเม็ดปลาดุกเล็ก อนุบาลลูกปูนา

          ช่วงอนุบาลลูกปูไม่ควรเปลี่ยนน้ำบ่อยลูกปูนาจะตายง่ายควรเปลี่ยนหลังจากลูกปูนาครบ 1 เดือน  และเมื่อเลี้ยงลูกปูนาครบ 30 วันหรือ 1 เดือน  ก็สามารถนำไปปล่อยเลี้ยงในบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์เพื่อขุนต่อไป  ระยะนี้ก็จะเลี้ยงด้วยอาหารไฮเกรดเป็นอาหารเลี้ยงลูกอ๊อดชนิดเม็ดลอยน้ำ หรือข้าวสวยผสมโคลงไก่และอาหารเม็ด  หรืออาจเสริมด้วยแหนแล้วแต่ผู้เลี้ยงจะสะดวก การให้อาหารปูนาก็จะขึ้นมากินอาหารเอง โดย 1 ตัวกินประมาณ 4-5 เม็ด ให้ทุกวันในช่วงเย็น

การเจริญเติบโต ลอกคราบ การเปลี่ยนถ่ายน้ำ

กระดองปูนาลอกคราบ

          ปูนามีการเจริญเติบโตโดยการลอกคราบเช่นเดียวกับปูชนิดอื่นๆ  หลังจากฟักเป็นตัวแล้วปูนาจะลอกคราบประมาณ 13-15 ครั้งก็จะโตเป็นตัวเต็มวัย  ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการปูนาตัวเต็มวัยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 6-8 เดือน  ปูที่จะลอกคราบสังเกตได้จากรอยต่อทางส่วนท้ายของกระดองจะกว้างมากกว่าปกติ  เมื่อใกล้จะลอกคราบปูนาจะนิ่งและยืดขาออกไปทั้งสองข้าง

  ปูนาลอกคราบ

          จากนั้นรอยต่อทางส่วนท้ายของกระดองจะเปิดออกส่วนท้าย  พร้อมทั้งขาเดินคู่สุดท้ายจะออกมาก่อน จากนั้นขาคู่ถัดมาจะค่อบๆโผล่ออกมาตามลำดับส่วนก้ามคู่แรกจะออกมาเป็นลำดับสุดท้าย  ระยะเวลาที่ใช้ลอกคราบทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง ในส่วนของการเปลี่ยนถ่ายน้ำให้สังเกตว่าน้ำเริ่มมีกลิ่นเหม็นหรือขุ่นข้นมากก็ค่อยเปลี่ยน  ถ้าสะดวกจะเปลี่ยนอาทิตย์ละครั้งหรือ 2 อาทิตย์ครั้งก็ได้  หากปูตายโดยไม่ทราบสาเหตุควรถ่ายน้ำ  ขัดบ่อเอาคราบสกปรกออกแล้วทำการตากบ่อให้แห้งๆทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน โรยเกลือฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ที่อยู่ในบ่อเลี้ยงปูนา  จากนั้นทำความสะอาดบ่ออีกครั้ง เติมน้ำใหม่ จัดระบบนิเวศ จัดที่หลบซ่อนตัวให้พอเพียง ทิ้งไว้ 1 วันค่อยนำปูที่เหลือลงไปเลี้ยงใหม่

ระยะเวลาการเลี้ยงปูนา

ปูนา3

ระยะเวลาการเลี้ยงปูนาจนพร้อมเป็นพ่อแม่พันธุ์จะอยู่ราว 7-8 เดือน  แต่ก็สามารถจำหน่ายได้ 2-4 เดือนสามารถแปรรูปเป็นอาหารต่างๆ เช่น ปูจ๋า ปูอ่อง ปูดอง ปูทอด หรือเป็นปูเหยื่อสำหรับนักตกปลาวางเบ็ดปลาช่อน  อายุ 6 เดือนสามารถเริ่มเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ อายุขัยของปูเฉลี่ยประมาณ 2-4 ปี พ่อแม่พันธุ์อายุ 6 เดือนจะสมบูรณ์ที่สุด สามารถใช้เพาะพันธุ์ได้ประมาณ 4-6 ครั้ง ก็จะตายนั่นเอง

การบังคับให้ผสมพันธุ์นอกฤดูกาล

ปูนาจำศีล

          ตามธรรมชาติปูนาจะออกลูกปีละครั้งแต่ปัจจุบันผู้เลี้ยงจะบังคับให้ผสมพันธุ์นอกฤดูกาล  จากการสังเกตพบว่าก่อนที่ปูนาจะผสมพันธุ์ตามธรรมชาติในช่วงฤดูร้อนจะต้องจำศีล  ช่วงเวลาปูนาจำศีลจะอยู่ในรูใต้ดินลึกมาก  แล้วปูนารู้ได้ยังไงว่าฝนตกก็เนื่องจากว่าเวลาฝนตกน้ำฝนจะซึมลงดิน  อุณหภูมิของดินก็ต่ำลงมีความชื้นทำให้ปูนารู้ว่าฝนตกแล้วต้องขึ้นมาผสมพันธุ์  ผู้เลี้ยงจึงใช้หลักการนี้มาใช้ผสมพันธุ์เทียมในบ่อปูนโดยบ่อปูนจะมีรูระบายน้ำให้ค่อยๆปล่อยน้ำจนน้ำแห้ง  แล้วปล่อยให้บ่อปูนแห้งสนิทไปเลยโดยที่ไม่ต้องให้อาหารด้วย  ก็จะสังเกตด้วยว่า

ปูนาอยู่รูอิฐบล็อค

          ตัวปูนาจะแห้งพอปูนาตัวแห้งก็จะเริ่มหาที่จำศีลเพราะคิดว่ากำลังเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนก็จะเริ่มเข้าไปอยู่ในรูอิฐบล็อค  หลังจากที่ปูนาไปอยู่ในรูอิฐบล็อคแล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1-2 สัปดาห์  แล้วค่อยๆเติมน้ำเข้าไปในบ่อ  นำสแลนมาคุมแล้วนำสังกะสีมาทับปากบ่อแล้วต่อยๆฉีดน้ำ  การฉีดน้ำจะค่อยๆ ฉีดให้เป็นฝอยๆ  ถ้าฉีดแรงจะทำให้ปูตกใจได้ต้องจำลองให้เหมือนฝนตก พร้อมๆ กับค่อยๆ เพิิ่มระดับน้ำในบ่อจะทำให้ปูนารู้สึกว่ากำลังจะเข้าฤดูฝนอีกครั้ง  ก็จะออกมาจากรูอิฐบล็อคเพื่อมาผสมพันธุ์อีกครั้ง

ลูกปูนาในท้อง ปูนาอยู่รูอิฐบล็อค1


          ก่อนผสมพันธุ์ปูนาจะมีสีสันที่หลากหลายแต่สิ่ี่ปูนาจะผสมพันธุ์ได้ดีที่สุด  คือสีแดงดำอมม่วง  พอปูนาเริ่มเจอน้ำจากที่ตัวเคยมีสีเหลืองม่วงส้ม  ก็จะเปลี่ยนเป็นสีดำอมม่วงในช่วงผสมพันธุ์และเมื่อเราเติมน้ำได้ตามจุดที่ต้องการ  คือประมาณ 10-15 ซม. หรือมากกว่านั้นก็ได้  ก็จะเข้าสู่รอบผสมพันธุ์ของปูนาซึ่งการฉีดน้ำในแต่ละครั้งจะใช้เวลา 5-10 นาที หลังจากนั้นปูนาจะเริ่มจับคู่กันแล้วแยกกันอยู่ในรูคู่ใครคู่มัน  โดยตัวเมียอยู่ในรูตัวผู้อยู่ปากรูเพื่อคอยเฝ้าดูแลจนกว่าจะออกลูกเป็นตัวแล้วจึงออกจากรู  ใช้เวลาผสมพันธุ์จนออกลูกใช้เวลาประมาณ 30-35 วัน  หลังจากที่ไข่ในกระดองสมบูรณ์เต็มที่ปูนาถึงจะคลายไข่ที่กระดองมาไว้ที่หน้าท้องหรือที่เราเรียกว่าจับปิ๊นั่นเองครับ สรุป การอนุบาลลูกปูนาและอาหารของลูกปูนาก็มีเพียงเท่านี้...โปรดติดตามบทความตอนต่อไปนะครับ...Credit by คัมภีร์ชีวิต StudiO
Share:

พ่อแม่พันธุ์ปูนา

by pkpunathai 
ปูนากำแพง

          พ่อแม่พันธุ์ปูนา  ที่เห็นเลี้ยงกันส่วนใหญ่ก็จะมีพันธุ์กำแพง พันธุ์พระเทพ  การหาพ่อแม่พันธุ์ปูนาเอาแบบไม่ต้องใช้ทุนแต่ใช้แรงก็หาจากตามท้องทุ่งนาหรือรับซื้อจากชาวบ้านที่จับมาขายอีกทีก็ได้  ถ้าหากสนใจเจาะจงสายพันธุ์ก็ลองสั่งซื้อออนไลน์จากเพจฟาร์มต่างๆ โดยอาจพิมพ์คำว่า ปูนา เลี้ยงปูนา ซื้อขายปูนา  ในเฟสบุุ๊คซึ่งจะมีให้เลือกขึ้นมาหลายเพจหลายกลุ่มก่อนซื้อควรตรวจสอบศึกษาความน่าเชื่อถือ  การมีตัวตนของฟาร์มนั้นๆให้รอบคอบเพื่อป้องกันมิจฉาชีพที่มาแอบแฝงอยู่ในกลุ่มด้วยนะครับ

  ปูนาพระเทพ

          การสั่งซื้อแนะนำว่าควรสั่งซื้อพ่อแม่พันธุ์มาผสมเองจะดีกว่าแบบปูนาท้องอุ้มลูก  เพราะว่าการขนส่งในระยะทางที่ไกลจากพื้นที่ต่างจังหวัดปูนาที่ท้องจะเครียดง่ายมักตายระหว่างเดินทาง  ปูนามักปล่อยลูกที่ยังไม่ได้อายุหรือปล่อยไข่ทิ้งและตายก่อนมาถึงฟาร์ม  รวมถึงกินลูกตัวเองระหว่างทางแต่ถ้าระยะทางใกล้ก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ การนำพ่อแม่พันธุ์ปูนาลงบ่อเลี้ยงนั้นแต่ละที่แต่ละฟาร์มก็มีอัตราแตกต่างกันไป  ขอแนะนำแนวทางคร่าวๆ นะครับ โดยการคำนวณ ดังนี้  ตัวอย่างอัตราการเลี้ยงปูนาโดยประมาณ  
  • บ่อปูนวง 1 เมตร = พ่อแม่พันธุ์ปูนาได้ 10-15 คู่ หรือ 20-30 ตัว ใส่ปูเลี้ยงขุนประมาณ 50-60 ตัว
  • บ่อปูนสี่เหลี่ยม = พ่อแม่พันธุ์ปูนาได้ 30-35 คู่ หรือ 60-70 ตัว ใส่ปูเลี้ยงขุนประมาณ 90-120 ตัว  คำนวณจาก 1 ตารางเมตร = ปูโต 20-30 ตัว ู ตามความเหมาะสมเป็นหลักไม่หนาแน่นจนเกินไปไม่น้อยจนเกินไปและต้องมีที่หลบให้เขาอย่างเพียงพอ จะได้ลดอัตราการตายจากการต่อสู้กันเองหรือปูนากินกันเองในระหว่างลอกคราบ
ข้าวสุกอาหารเม็ดปลาดุกเล็ก

          อาหารที่ให้พ่อแม่พันธุ์จะเป็นข้าวสุกหรืออาหารเม็ดเลี้ยงปลาดุกเล็กโดยจะให้ 2 ครั้งเช้าและเย็น โดยจะให้ไม่มากขึ้นอยู่กับปริมาณและขนาดของปูนา  หากให้อาหารปูนามากเกินไปจะทำให้อาหารที่เหลืออาจเน่าเสียอยู่ในบ่อเป็นต้นเหตุทำให้ปูนาเป็นโรคได้ที่สำคัญควรเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกสัปดาห์

การผสมพันธุ์ของปูนา

ปูนาตัวผู้ 

          ปูนาตัวผู้แม่พันธุ์ปูนา 1 ตัวสามารถมีลูกปูได้มากถึง 500-700 ตัว ปูนาก่อนผสมพันธุ์จะชอบทำความสะอาดจับปิ๊ง  ตัวเมียมีไข่อ่อนทุกตัวอยู่บริเวณในกระดองสีออกส้มๆ  บางท่านคิดว่าอาจเป็นมันปูแต่ไม่ใช่นะครับ มันคือไข่อ่อนรอการฉีดน้ำเชื้อจากตัวผู้และจะพัฒนาการมาเป็นไข่แล้วขับมาไว้ที่ท้อง  เหมือนกุ้งที่มีไข่อ่อนที่หัวก่อนได้รับน้ำเชื้อแล้วพัฒนามาเป็นไข่ถ้าไม่ได้ผสมพันธุ์ก็จะกลายเป็นของเสียและขับออกทิ้งไป

ปูนาตัวเมีย

          ปูนาตัวเมียหลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปูนาลงในบ่อเมื่อปูนาพร้อมสมพันธุ์ก็จะเริ่มจับคู่กันเอง  เมื่อผสมพันธุ์กันแล้วระยะเวลาฟักไข่หรืออยู่ถึงอุ้มท้องจะอยู่ประมาณ 30-35 วัน  อาจจะสังเกตได้จากปูนาตัวเมียก่อนผสมพันธุจะปราดเปลียวว่องไวและดุมาก  แต่ถ้าผสมติดแล้วจะอยู่นิ่งๆไม่ดุเวลาเราทำท่าจับนิ้วของเขาจะงอมาที่จับปิ๊งแบบหวงๆ  มักชอบฝังตัวในโคลนหรือซุกอยู่ในที่แคบๆนิ่งๆ ตัวเดียว จะลงมากินอาหารและน้ำเป็นช่วงๆ

  ปูนาตั้งท้อง

          เมื่อปูนาอุ้มท้องครบประมาณ 3-5 สัปดาห์  หรือราวๆ 30-35 วัน  ไข่จะเริ่มฝักไข่ที่เก็บพักไว้ที่แผ่นหน้าท้องจะมีลักษณะเป็นเม็ดกลมสีเหลือง  เมื่อถึงระยะเวลาก่อนฟักไข่ไข่จะมีนาดใหญ่ขึ้นและมีสีเหลืองคล้ำมากพร้อมที่จะเป็นตัว  ลูกปูนาที่ฟักออกจากไข่จะฟักเป็นตัวขณะที่ยังอยู่ในแผ่นท้องของแม่ปูนาและจะอาศัยในแผ่นท้องของแม่ปูนานาน 2-3 สัปดาห์  ก่อนแม่ปูนาจะใช้ขาเขี่ยให้ออกไปอาศัยในแหล่งน้ำ  โดยลูกปูนาที่ฟักออกมาใหม่จะมีขนาดเล็กลำตัวไม่กี่มิลลิเมตร

ลูกปูนา

          ลำตัวจะมีสีนวลและเมื่อเติบโตจะมีสีเข้มเป็นสีน้ำตาลอ่อนและสีน้ำตาลเข้ม  ถ้าบ่อที่เลี้ยงปูนาเป็นบ่อธรรมชาติมน้ำขังตลอดไม่จำเป็นต้องแยกลูกปูนา  แต่อาจจะดูแลยากลูกปูนาสามารถเติบโตได้ดีในบ่อธรรมชาติแต่ควรมีที่หลบซ่อนอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันปูใหญ่กิน  ถ้าเลี้ยงในบ่อปูนหรือกระชังควรแยกลูกปูนาอยู่ในบ่ออนุบาลต่างหาก เนื่องจากหากปล่อยไว้รวมกันพ่อแม่ปูนาจะกินลูกของมันเองนะครับ เครดิตโดย : คัมภีร์ชีวิต StudiO
Share:

การทำบ่อเลี้ยงปูนา

by pkpunathai

การทำบ่อเลี้ยงปูนาหรือบ่อที่ใช้เลี้ยงปูนา มีดังนี้

ปูนาเลี้ยง          

          การทำบ่อเลี้ยงปูนาหรือบ่อที่ใช้เลี้ยงปูนานั้นสามารถเลือกใช้ได้ตามความสะดวก  ความเหมาะสมกับพื้นที่ที่เรามี เช่น บ่อปูนสี่เหลี่ยม บ่อปูนกลมหรือวงซีเมนต์ บ่อดิน บ่อสำเร็จรูป  หรือแม้กระทั้งทำนาปูในที่ทำนา การเลี้ยงในบ่อดินนั้นจะขุดบ่อลงไปประมาณ 10 ซม. และหาสังกะสีเก่าหรือกระเบื้องล้อมรอบบ่อกันปูไต่ออก  หรือจะใช้ตาข่ายตาถี่ล้อมก็ได้โดยให้ระดับน้ำอยู่ประมาณ 3-4 นิ้ว หรือ 10 ซม. ข้างในบ่อจะปลูกพืชผักน้ำ เช่น ต้นข้าว ผักตบชวา ผักบุ้ง เป็นต้น  ซึ่งก็สามารถทำได้หลายแบบเช่นบ่อน้ำทั้งบ่อมีพื้นที่คันดินให้ปูขึ้นมาพักรับแดดหรือขุุดเป็นบ่อเล็กกลางบ่อก็ได้

            บ่อปูนเลี้ยงปูนา

          การเลี้ยงในบ่อปูนสี่เหลี่ยม  ซึ่งขนาดก็แล้วแต่พื้นที่ของเราเล็กใหญ่ตามปัจจัยที่เราสะดวกความสูงอยู่ที่ประมาณ 2-3 อิฐบล็อค  ซึ่งบ่อปูนใหม่ก็ต้องกำจัดฤทธิ์ของปูนเสียก่อนด้วยการแช่ต้นกล้วยสับไว้สักประมาณ 1-2 อาทิตย์  จนต้นกล้วยเริ่มเปื่อยสังเกตปูนในบ่อปูนจะคล้ำขึ้นหรือดูจากสัตว์น้ำเล็กๆ ลูกน้ำ ไร เกิดขึ้นมาก็จะใช้ได้ จากนั้นก็ถ่ายน้ำเก็บเศษกล้วยออกเติมน้ำใหม่ใส่พืชน้ำ เช่น ผักตบชวา สาหร่าย อิฐบล็อค กระเบื้องหลังคา  เพื่อเป็นที่หลบซ่อนทิ้งไว้สัก 1-2 วัน  ซึ่งการเลี้ยงปูนาในบ่อสี่เหลี่ยมจะมีการเลี้ยงแบบใส่ดินและเลี้ยงแบบน้ำใสไม่ใส่ดินด้วยกัน

 

          การเลี้ยงปูนาในบ่อปูนกลมหรือวงบ่อซีเมนต์  วงบ่อต้องมีก้นบ่อถ้าไม่มีก็ให้เทปูนใหม่จะต่อท่อระบายน้ำก็จะยิ่งสะดวกในการถ่ายน้ำบ่อปูนใหม่สิ่งที่จะทำก็คือต้องแช่กล้วยสับเหมือนบ่อปูนสี่เหลี่ยมเพื่อลดฤทธิ์ของปูนซีเมนต์โดยแช่ไว้ 1-2 อาทิตย์  การสังเกตก็แบบเดียวกับบ่อปูนซีเมนต์สี่เหลี่ยมหรือใช้น้ำส้มสายชูในครัวเรือนผสมแช่น้ำ  ถ้าขวดเล็ก 300 มิลลิลิตร ก็ใช้ 2 ขวด  ถ้าขวดใหญ่ก็ใช้ขวดเดียวประมาณ 1-3 วัน  เพื่อดูดความเค็มของปูนได้เร็ว  จากนั้นถ่ายน้ำล้างบ่อแล้วเติมน้ำใหม่ทิ้งไว้ 1-3 วันใส่พืชน้ำ ผักตบชวา สาหร่าย อิฐบล็อค กระเบื้องหลังคา  เพื่อเป็นที่หลบซ่อนของปูนาระยะเวลkเร็วช้าก็แตกต่างกันไปนะครับ ใช้การสังเกตเป็นหลัก

           

          การเลี้ยงในบ่อผ้าใบสำเร็จรูป  วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีพื้นที่แต่ไม่อยากขุดบ่อจะเลี้ยงแบบระบบบ่อน้ำใส  การเลี้ยงแบบนี้ก็จะเปลี่ยนน้ำบ่อยแต่ก็จะจับปูนาได้ง่ายขึ้น  นอกจากนี้ยังต้องมีกระเบื้องใส่ลงไปให้ปูนาหลบและไม่ทำลายกันเอง  ด้วยพฤติกรรมของมันที่ไม่ชอบที่โล่งๆ  รวมทั้งมีระบบปล่อยน้ำด้วยสปิงเกอร์ให้ด้วยเป็นการปรับระบบให้เหมือนมีฝนตก  ปูนาจะมีสุขภาพจิตดีมีอัตรารอดสูงมากนั่นเอง

การเลี้ยงปูนาควรมีบ่อเลี้ยงอย่างน้อย ดังนี้

บ่อปูนวง

บ่ออนุบาล, บ่อผสมพันธุ์, บ่อเลี้ยง, และบ่อรักษาฟื้นฟูปูนาที่สลัดขา  ควรวางท่อปล่อยน้ำทิ้งเพื่อความสะดวกในการเปลี่ยนถ่ายน้ำ  รวมถึงการเจาะรูน้ำล้นเวลาเติมน้ำจะได้สะดวกเช่นกัน  การเลี้ยงในบ่อแต่ละรูปแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ก็ให้เลือกที่สะดวกและเหมาะสมกับตัวเราลงไป  (Credit by คัมภีร์ชีวิต StudiO)

ท่อปูนวงน้ำทิ้ง

ข้อแนะนำ  การลดอัตราการตายของปูนาช่วงฤดูฝนเราจะมีวิธีการดูแลปูนาอย่างไร
       
          วิธีการอย่างไรที่จะทำให้ปูนาลดอัตราการตายได้ในช่วงนี้เราจะมีวิธีการดูแลปูนาอย่างไร  ดังนี้  น้ำฝนก็มีผลทำให้ปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยงปูนามีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นและนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปูนาที่เลี้ยงไว้ตายได้  วิธีการคือเจาะรูระบายน้ำออกจากบ่อเลี้ยงปูนาหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการเจาะรูกันน้ำล้นนั่นเอง  การเจาะรูระบายน้ำออกก็จะอยู่ประมาณ 10 ซม.จากพื้นบ่อ  แล้วเจาะใส่ท่อพีวีซีไว้ก็เป็นวิธีที่ง่ายอีกวิธีหนึ่งเวลาฝนตกลงมาน้ำฝนก็จะไหลออกจากรูระบาย  เพื่อเป็นการรักษาระดับน้ำเอาไว้ให้คงที่ไม่ให้มีปริมาณมากเกินไปใช้ได้ทั้งการเลี้ยงน้ำเค็มและน้ำจืด  เพื่อให้ปูนาปรับตัวให้ชินกับสภาพอากาศและพื้นที่ยังคงอยู่ในสภาพเดิม  เป็นการลดอัตราการตายของปูนาได้นั่นเอง
(โดย รักบ้านเกิด Rakbankerd.com) #การเลี้ยงปูนา #การเพาะพันธุ์ปูนา #ปูนาไทย #ปูนา #ขายปูนา #อาชีพเสริมเพิ่มรายได้ #pkpunathai 
———————————————————
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่นี่ : สมัครสมาชิกฟรี 
ลงทะเบียนฟรี Website : https://bit.ly/2TCpaWA
 Fanpage Inbox : https://www.facebook.com/pkpunathai/inbox/ 
Line@ : มี “@” นำหน้า @pkpunathai หรือ https://line.me/R/ti/p/%40pkpunathai 
Tel. : 093-961-6251, 083-699-5325 
———————————————————
Share:

เทคนิคการเลี้ยงปูนาเบื้องต้น

by pkpunathai

          เทคนิคการเลี้ยงปูนาเบื้องต้นเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เพื่อบริโภคและจำหน่ายตลอดทั้งปี

ปูนาเข้ม 

เทคนิคการเลี้ยงปูนาเบื้องต้น  นั้นเดิมที่ปูนาเป็นสัตว์ที่คุ้นหูคุ้นตาชาวนาเป็นอย่างดี ที่สารเคมีและยาฆ่าแมลงยังมีไม่มากมายเหมือนปัจจุบันและเป็นศัตรูตัวฉกาจที่สำคัญของชาวนา  เพราะว่าปูนาจะกัดกินต้นข้าวที่ปักดำใหม่ๆทำให้ชาวนาต้องปักซ่อมหลายครั้ง นอกจากนี้ปูนายังขุดรูอยู่ตามคันนาทำให้คันนาไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้  แต่ปูนาก็เป็นอาหารที่ราคาถูกและหาง่าย  โดยเฉพาะวิถีชีวิตของคนชนบท และนำมาประกอบอาหารประเภทต่างๆ เช่น ส้มตำ ปูอ่อง ปูเผา ปูทอดเกลือ ปูนานึ่ง เป็นต้น  ในส่วนนี้แนะนำให้ปรุงสุกก่อนรับประทานเพื่อความปลอดภัยจากเชื้อโรคต่างๆ


          ปูนามีแพร่อยู่กระจายตามภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงบางพื้นที่ของเอเชียตะวันออก  ปูนาของประเทศไทยพบมากอยู่หลายชนิดบางชนิดกระจายพันธุ์ไปทั่วทุกภาค  บางชนิดก็พบมากในหลายจังหวัดในประเทศ  ปูนาจะพบมากในฤดูฝนเป็นที่อุดมสมบูรณ์เพราะวิถีชีวิตของปูนาจะผูกพันกับน้ำ  โดยจะผสมพันธุ์กันและวางไข่ปีละครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ถึงกรกฎาคม  ปูนาตัวเมียเมื่อผสมพันธุ์แล้วจะขุดรูอยู่สูงกว่าระดับน้ำ  เพื่อเตรียมอุ้มไข่และจะไม่ลอกคราบจนกว่าไข่จะฟักเป็นตัว  ปูนาส่วนใหญ่จะออกหากินในเวลากลางคืนปูนาใช้การลอกคราบราว 13 ถึง 15 ครั้ง  หลังจากฟักเป็นตัวจะใช้เวลา 7 ถึง 8 เดือน จึงโตเต็มวัย


          นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่าเปลือกกระดองของปูนามีสารไคตินสูงถึงร้อยละ 19.27 ในขณะที่เปลือกกระดองของปูทะเลมีเเพียงร้อยละ 14.14 เท่านั้น  ดังนั้นเปลือกกระดองของปูนาจึงมีประโยชน์ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตไคโตรซานได้เป็นอย่างดีกว่าสัตว์ชนิดอื่น
          ปัจจุบันปูนาแทบจะหายไปจากท้องนาเนื่องจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร ทั้งปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง  แต่รสชาติและความหอมเวลาเราเผาปูก็ทำให้ใครหลายๆคนคนึงหา  จึงนำมาเลี้ยงและเพาะพันธุ์เพื่อบริโภคและจำหน่าย ซึ่งมีผู้ประสบความสำเร็จหลายๆ ท่านเลยทีเดียว


          วันนี้เราขอเรียบเรียงนำแนวทางวิธีการเลี้ยงจากหลายๆ ฟาร์ม หลายๆ ท่านที่ประสบความสำเร็จการเลี้ยงปูนา มานำเสนอให้กับท่านที่สนใจอยากจะเลี้ยงปูนาจากผู้มีประสบการณ์ความรู้ เพื่อจะเอาไปต่อยอดในอนาคต  ข้อควรรู้เกี่ยวกับปัญหาปูนาตาย ปูนาสลัดขา เริ่มแรกหลายท่านคิดว่าบ่อเลี้ยงปูนาจะต้องมีน้ำ ดิน หญ้า และองค์ประกอบอื่นๆ จำลองบ่อเลี้ยงตามธรรมชาติแล้วปล่อยปูนาลงไปแค่นั้นก็พอ  แต่ความเป็นจริงแล้วเมื่อได้ทดลองปรากฏว่าปูนาตายทั้งหมด
          การศึกษาจากผู้เพาะเลี้ยงได้พบว่าดินเมื่อเจอกับน้ำจะขุ่นปูนาเดินขึ้นลงน้ำก็ขุ่นพอน้ำขุ่นเมื่อปูนาอยู่ในน้ำแล้วจะมีการฟอกอากาศเข้าไปในร่างกาย  ซึ่งก็เหมือนกับคนที่ได้รับสารพิษเข้าไปก็จะทำให้ตายได้  หลายท่านคิดสงสัยว่าธรรมชาติของปูนาก็อยู่กับดินแต่ทำไมไม่ตาย  สาเหตุเพราะว่าปูนาในธรรมชาติเมื่อเจอน้ำขุ่นแล้วฟอกอากาศเข้าไปแล้ว  ปูนาก็จะหาแหล่งน้ำที่ใสจากธรรมชาติเพื่อฟอกตะกอนที่อยู่ในตัวออกไป  แต่เมื่อนำมาเลี้ยงในบ่อปูนแล้วใส่ดินจะไม่มีพื้นที่น้ำใสน้ำจะขุ่นทั้งหมดพอฟอกตะกอนออกไม่ได้ปูนาก็ตาย  ปัญหาอีกอย่างคือเรื่องของอากาศปูนาจะใช้เวลาปรับสภาพประมาณ 3 - 5 วัน บางพื้นที่อาจจะใช้เวลาถึง 7 วัน  อากาศเย็นจะทำให้ปูนาสลัดขาแล้วก็ตายเหมือนการนำปูนาไปสัมผัสน้ำแข็ง  ถ้าปูนาโดนน้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัดจะสลัดขาทั้งหมดออกโดยอัตโนมัติแล้วก็ตาย  แต่ถ้าเป็นการสลัดขาเองตามปกติประมาณว่าอยู่ดีๆ แล้วสลัดขาเองอาจจะเกิดจากการหนีคู่ต่อสู้โดยต้องสลัดก้าม  หรือเพื่อให้วิ่งหนีได้เร็วขึนและปกติตามธรรมชาติส่วนที่ปูนาสลัดทิ้งก็จะงอกขึ้นมาใหม่ตามธรรมชาติเมื่อมีการลอกคราบ


          สำหรับการเลี้ยงปูนาก้ามหนีบกัน  ก้ามหลุด  ขาขาดเป็นเรื่องปกติ  แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าปูนาไม่ลอกคราบก็สามารถผลิตและยังงอกขึ้นมาใหม่ได้  เพียงแต่เมื่อเราพบเจอก็แยกเขาไว้ต่างหากขาปูนาก็จะงอกได้เร็วขึ้น  ควรจะมีบ่อปฐมพยาบาลปูนาไว้สำหรับปูนาขาขาด ก้ามหลุด  ซึ่งลักษณะขาที่งอกออกมาใหม่นั้นจะนุ่มนิ่มขยับไปมาบางคนคิดว่าปลิงไม่ใช่นะครับ...เราจึงควรมีบ่อปูนาสลัดขาโดยเฉพาะซึ่งจะใส่น้ำเสมอปากปูแล้วให้อาหารเม็ดลอยน้ำให้ปูกินปูก็จะงอกขาใหม่และมีชีวิตอยู่ได้
          เกษตรกรทางภาคเหนือมักจะเจอปัญหาภูมิอากาศที่เย็นกว่าภาคอื่น ทำให้ปูนาที่นำมาเลี้ยงปรับสภาพไม่ทัน  สลัดก้ามและสลัดขาทิ้งแล้วก็ตายลง  พออากาศเย็นจัดผู้เลี้ยงต้องเพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้นซึ่งปูนาอยู่ได้ปกติอยู่แล้วเพราะปูนาเป็นสัตว์น้ำน้ำลึกแค่ไหนก็สามารถอยู่ได้  เหตุผลที่ต้องให้เพิ่มระดับน้ำเพราะว่ายิ่งน้ำลึกเท่าไรใต้ท้องน้ำก็จะยิ่งอุ่นผิวน้ำด้านบนก็จะเย็นจึงเพิ่มด้วยผักตบชวาที่ลอยน้ำก็จะทำให้น้ำอุณภูมิคงที่  โดยภาพรวมคือ ปูนาจะชอบอุณภูมิน้ำปกติมากกว่าถ้าเย็นจัดมีการตายแน่นอน


สรุปคำถามปัญหาที่พบบ่อยในเทคนิคการเลี้ยงปูนาเบื้องต้น  คือ
          ปูตายจากการถูกทำร้าย หนีบกันตาย ก้ามหลุด ขาหลุด วิธีแก้ปัญหา -  เพิ่มที่หลบซ่อนให้เพียงพอต่อจำนวนปู เช่น อิฐบล็อค กระเบื้อง สแลน ผักตบชวา หรือพืชน้ำต่างๆ ปูนิ่มตายหลังจากการลอกคราบ วิธีแก้ปัญหา -  เช่นเดียวกับข้อที่ผ่านมาคือเพิ่มที่หลบซ่อน  ในกรณีที่เราพบเห็นการลอกคราบให้เรานำตัวปูนานิ่มหรือตัวปูนาที่ลอกคราบใหม่ๆไปใส่ในตะกร้าหรือในกะละมังแยกไว้ต่างหาก - ให้อาหารตามปกติ ปูนิ่มจะใช้ระยะเวลา 2-3 วันก็จะกระดองแข็งสามารถที่จะนำกลับมาใส่ไว้ที่เดิม น้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นเร็วเกินไป วิธีแก้ปัญหา -  การลดให้อาหารปูนาน้อยลง  เศษอาหารทีู่นากินเหลือมีผลส่งให้น้ำเน่าเสียเร็ว  การทำความสะอาดบ่อขัดบ่อเอาคราบสกปรกออกแล้วทำการตากบ่อให้แห้งทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน  โรยเกลือฆ่าเชื้อจุลินทรีย์  เชื้อโรคต่างๆที่อยู่ในบ่อเลี้ยงปูนาจากนั้นทำความสะอาดบ่ออีกที เติมน้ำ จัดระบบนิเวศ จัดที่หลบซ่อนให้พอเพียง แล้วจึงนำปูกลับไปเลี้ยงใหม่ (Credit by คัมภีร์ชีวิต StudiO)
#การเลี้ยงปูนา #การเพาะพันธุ์ปูนา #ปูนาไทย #ปูนา #ขายปูนา #อาชีพเสริมเพิ่มรายได้ #pkpunathai


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่นี่ : สมัครสมาชิกฟรี 
ลงทะเบียนฟรี Website : https://bit.ly/2TCpaWA
Fanpage Inbox : https://www.facebook.com/pkpunathai/inbox/ 
Line@ : มี “@” นำหน้า @pkpunathai หรือ https://line.me/R/ti/p/%40pkpunathai 
Tel. : 093-961-6251, 083-699-5325
Share:

Translate/แปลภาษา

เพิ่มเพื่อน LINE@ ที่นี่เลย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวไทยพีบีเอส - เกษตร

บทความที่ได้รับความนิยม

ตามรอยพ่อ อย่างพอเพียง

บทความล่าสุด

FACEBOOK เพจของเรา

บัญชี LINE@ ของเรา

บัญชี LINE@ ของเรา
สแกนเพิ่มเพื่อน LINE@ ที่นี่เลย

บทความที่ได้รับความนิยม